วันพุธที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2559

12 พฤติกรรมทำง่าย ๆ แต่ช่วยให้สุขภาพดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่อ 

ทุกวันนี้ชีวิตเราต้องเจอกับสภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพและโรคภัยมากมาย ทั้งภัยจากมลพิษทางอากาศ และภัยจากอาหารการกิน จนอาจจะรู้สึกว่าโลกนี้เริ่มอยู่ยากขึ้นทุกวัน ดังนั้น หากมีหนทางไหนที่จะช่วยให้เรารักษาสุขภาพกายและสุขภาพใจให้ดีขึ้นได้ก็น่าทำไม่น้อยใช่ไหมคะ อย่างวันนี้กระปุกดอทคอมก็ได้นำ 12 พฤติกรรมทำได้ง่าย ๆ จากเว็บไซต์ prevention มาฝาก เผื่อใครสนใจอยากมีสุขภาพดีขึ้นจะได้ลองทำตามนี้ดู

1. หัวเราะคิกคัก ช่วยเลือดไหลเวียน

          หัวเราะวันละนิดจิตแจ่มใส คำกล่าวนี้ได้รับการยืนยันจากผลการวิจัยของ  The University of Texas at Austin  แล้วว่าเป็นความจริงร้อยเปอร์เซ็นต์ โดยเขาได้ทำการทดลองให้กลุ่มอาสาสมัครกลุ่มหนึ่งดูหนังตลกและพบว่า กลุ่มคนเหล่านี้ จะมีอัตราการเต้นของหัวใจเร็วขึ้นเล็กน้อย ทำให้หลอดเลือดหัวใจขยายมากกว่าปกติ และช่วยให้เลือดไหลเวียนได้ดีขึ้นถึง 24% 

          แต่เมื่อกลุ่มอาสมัครเหล่านี้ดูหนังเศร้า และสารคดี จะมีภาวะเส้นเลือดตีบตันเพิ่มขึ้น 18% เป็นผลให้เลือดสูบฉีดได้ไม่สะดวก โดยแพทย์เฉพาะทางได้อธิบายเพิ่มเติมว่า เมื่อเรามีความสุข ร่างกายจะหลั่งสารนิวโรเคมี (neurochemical) ซึ่งเป็นสารเคมีแห่งความสุขออกมา ทำให้ร่างกายเรารู้สึกกระปรี้กระเปร่าขึ้นนั่นเอง รู้อย่างนี้ก็หัวเราะบ่อย ๆ นะร่างกายจะได้สดชื่น


แปรงฟัน

2. แปรงและขัดฟันไล่มะเร็ง

          รู้ไหมว่าการสะสมของคราบแบคทีเรียและคราบพลัคภายในช่องปากของเรา สามารถกลายร่างเป็นมะเร็งสมองและมะเร็งลำคอได้ด้วย โดยการศึกษาของสถาบันวิจัยโรคมะเร็ง Roswell Park รัฐนิวยอร์ก พบว่า คนที่เป็นโรคปริทันต์อักเสบเรื้อรังมีความเสี่ยงเป็นโรคมะเร็งสมอง และมะเร็งลำคอเพิ่มขึ้นถึง 4 เท่า โดยไม่จำเป็นว่าผู้ป่วยจะมีประวัติสูบบุหรี่มาก่อนหรือไม่ 

          ดังนั้น เพื่อเป็นการป้องกันและลดความเสี่ยงของโรคมะเร็งสมองและลำคอ ก็ควรต้องหมั่นดูและรักษาความสะอาดของช่องปากให้ดี ด้วยการแปรงฟันเป็นประจำ และใช้ไหมขัดฟันช่วยขจัดคราบจุลินทรีย์และคราบพลัคด้วยก็จะดีมากค่ะ

3. จิบชาสลายเส้นเลือดสมองอุดตัน

          ผลการวิจัยของ UCLA School of Medicine พบว่า ผู้ที่นิยมจิบชาเป็นประจำอย่างต่ำ 3 แก้วต่อวัน จะมีอัตราเสี่ยงเป็นโรคเส้นเลือดสมองอุดตันเพียงแค่ 1 ใน 5 ซึ่งถือว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่จิบชาน้อยกว่า 1 แก้วต่อวัน เพราะในน้ำชามีสาร EGCG ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระประสิทธิภาพสูง และกรดอะมิโนธีอะนีน ซึ่งจะช่วยขยายหลอดเลือดสมอง และหลอดเลือดแดงให้สูบฉีดเลือดได้อย่างสะดวก จึงไม่มีความเสี่ยงเป็นเส้นเลือดอุดตัน ห่างไกลจากโรคอัมพฤกษ์ อัมพาตแบบไร้กังวลกันไปเลย


เขียนโน้ต

4. เขียนระบายความในใจ ช่วยกระตุ้นภูมิคุ้มกัน

          อาจจะดูเป็นวิธีการระบายความในใจที่ล้าสมัย แต่เชื่อไหมว่าการนั่งเพ้อเขียนโน้ตถึงความรู้สึกดี ๆ ที่มีในแต่ละวัน จะสามารถทำให้เรามีความสุขขึ้นได้ง่าย ๆ ยืนยันด้วยผลการศึกษาของ Kent State University ที่พบว่า คนที่เขียนโน้ตหรือไดอารีถึงความรู้สึกดี ๆ ที่เกิดขึ้นในแต่ละวัน จะช่วยกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย การทำงานของปอด และตับให้ทำงานได้อย่างเป็นปกติดี 

          นอกจากนี้ ยังช่วยลดระดับความดันเลือดในเป็นปกติอีกด้วย เพราะการเขียนหนังสือระบายความในใจ จะช่วยให้สมองได้รำลึกถึงช่วงเวลาของความสุข จึงทำให้ร่างกายมีความสุขไปด้วยนั่นเอง แต่สงวนสิทธิ์เฉพาะการจับปากกาเขียนลงบนกระดาษเท่านั้นนะคะ การระบายความสุขด้วยการแชท หรือโพสต์ข้อความทางโซเซียลเน็ตเวิร์กไม่นับ เพราะวิธีเหล่านี้ใช้เวลานิดเดียว ไม่พอให้สมองได้หวนรำลึกถึงความสุขได้มากเท่าการเขียนลงบนกระดาษนะจ๊ะ

5. ลุกไปเปลี่ยนช่องทีวี ลดอัตราเสี่ยงอ้วนลงพุง

          การศึกษาของชาวออสเตรเลียพบว่า ผู้ที่ขยับร่างกายเปลี่ยนช่องโทรทัศน์ด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งรีโมท จะมีขนาดรอบเอวที่น้อยกว่าผู้ที่ใช้รีโมทเปลี่ยนช่องทีวีถึง 16% เพราะการขยับลุกเดินอยู่เรื่อย ๆ จะช่วยให้ร่างกายได้ออกกำลังเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังช่วยลดระดับไตรกลีเซอไรด์ และระดับกลูโคสในเลือดให้ลดลง ช่วยลดอัตราเสี่ยงเป็นโรคอ้วนลงพุงได้อย่างสบาย นอกจากนี้ในระหว่างวัน ควรหมั่นหาโอกาสลุกเดินบ่อย ๆ เพื่อเปิดโอกาสให้ร่างกายได้ออกกำลัง ไม่ว่าจะด้วยวิธีการเดินคุยโทรศัพท์ หรือลุกเดินออกจากโต๊ะไปพักสายตาก็ได้

6. จดโน้ตเพิ่มความจำ

          สถาบันวิจัยทางกายภาพแนะนำว่า เราควรจะจดโน้ตการประชุม หรือการสอนของอาจารย์ลงในสมุดแทนที่จะใช้วิธีการอัดเสียง หรือเพียงแค่นั่งฟังเฉย ๆ เพราะการจดสิ่งที่ได้ยินลงไปในกระดาษ จะช่วยให้สมองจดจำข้อมูลได้ดีขึ้น เนื่องจากเวลาที่ต้องเขียนอะไรลงไปในกระดาษ เราจะมีสมาธิและตั้งใจฟังข้อมูลที่จะจดได้ดีขึ้นนั่นเอง

7. ถามย้ำผลการตรวจรักษา ป้องกันตรวจพลาด

          อย่าชะล่าใจหากคุณไปตรวจสุขภาพกับคุณหมอแต่กลับไม่พบว่าเกิดความผิดปกติใด ๆ กับร่างกาย เพราะในความเป็นจริง การตรวจรักษามีโอกาสพลาดได้ถึง 1 ใน 14 และอาการของโรคบางอย่างก็ปรากฏช้า เมื่อพบว่าเป็นโรคอีกทีก็เมื่อสายไปแล้ว ดังนั้น หากคุณรู้สึกว่าร่างกายตัวเองไม่ค่อยปกติ และสงสัยว่าอาจจะเจ็บป่วยเป็นโรคอะไรสักอย่าง ให้ถามผลการตรวจรักษาย้ำกับแพทย์โดยตรงอีกครั้ง และหากเป็นไปได้ควรจะกลับมาตรวจใหม่ด้วยก็จะดีมาก


จับมือคนรัก

8. บีบมือคนรักขจัดความเครียด

          การได้กอดใครแน่น ๆ หรือจับมือคนที่รักเราสามารถช่วยลดความเครียดที่มีอยู่ไปได้มากโข ยืนยันด้วยผลการศึกษาของ American Psychosomatic Society ที่ได้ทดลองให้คู่รักจำนวนหนึ่งระบายความเครียดด้วยการเล่าให้อาสาสมัครฟัง กลุ่มหนึ่งเล่าไปจับมือคนรักไป อีกกลุ่มเล่าโดยไม่ได้จับมือคนรัก และจากการศึกษาก็พบว่า กลุ่มที่ระบายความเครียดโดยไม่ได้สัมผัสกับคนรัก ยังคงมีระดับความดันเลือดสูงอยู่ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่จับมือคนรักไปด้วย 

          นั่นก็หมายความว่า การได้สัมผัสกับคนรัก สามารถช่วยลดระดับความดันเลือด และลดความเครียดได้ เพราะการได้แชร์ความรู้สึกกับคนที่เราไว้ใจ จะช่วยให้เรารู้สึกไม่โดดเดี่ยว และรู้สึกว่ามีหลักพึ่งพิงที่ดี จึงทำให้ลดความกังวลลงไปได้มาก

9. ฝึกโยคะรักษาอาการปวดหลังเรื้อรัง

          West Virginia University เขาได้ทำการศึกษากับผู้ที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ให้ฝึกเล่นโยคะเป็นเวลา 90 นาที สัปดาห์ละ 2 ครั้งติดต่อกันนาน 6 เดือน เปรียบเทียบกับผู้ป่วยที่มีอาการปวดหลังเรื้อรัง ซึ่งได้ทำการรักษาบำบัดด้วยวิธีอื่นอยู่แล้ว และพบว่า กลุ่มคนผู้ป่วยที่เล่นโยคะ มีอาการปวดหลังน้อยลงกว่ากลุ่มผู้ป่วยที่บำบัดด้วยวิธีอื่นโดยเฉลี่ยถึง 60% และจะค่อย ๆ บรรเทาอาการปวดหลังลงไปอีกมาก เมื่อฝึกเล่นโยคะต่อไปเรื่อย ๆ อีก 6 เดือนต่อมา ดังนั้นใครที่มีปัญหาสุขภาพหลัง จะลองเล่นโยคะดูบ้างก็ดีไม่น้อยเลยนะคะ

ปลาแซลมอน

10. กินปลาย่างมื้อเย็นเลี่ยงความจำเสื่อม

          ใคร ๆ ก็รู้ว่าเนื้อปลามีประโยชน์ต่อร่างกายและสมองของเราเป็นอย่างมาก เพราะมีสารอาหารที่อุดมไปด้วยคุณประโยชน์ เช่น โอเมก้า 3 โปรตีน และแร่ธาตุที่สำคัญต่อสุขภาพของเราหลากหลายชนิด ที่จะช่วยบำรุงเส้นเลือดในสมอง และลดอาการอักเสบของหลอดเลือดสมอง ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อม 

          อีกทั้งผลการวิจัยของสถาบันสุขภาพยังเผยด้วยว่า คนที่รับประทานปลาย่างเป็นประจำ หรือรับประทานมากกว่า 1 ครั้งต่อสัปดาห์ จะมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมเพียงแค่ 1 ใน 5 เท่านั้น ซึ่งถือเป็นอัตราเสี่ยงที่น้อยมากเมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่นิยมรับประทานปลา ดังนั้นคงจะดีไม่น้อยหากเราจะเพิ่มเมนูปลาย่างเข้าไปในมื่อเย็นด้วย จะเลือกกินปลาแซลมอน ปลาทูน่า หรือปลาแมคเคอแรลก็ได้ค่ะ


ดื่มนม

 11. ดื่มนมในตอนเช้า ช่วยลดน้ำหนัก

          ผลการศึกษาของ American Journal of Clinical Nutrition พบว่า ผู้หญิงที่ดื่มนม 1 แก้ว ร่วมกับอาหารอื่น ๆ ในมื้อเช้า จะช่วยลดพลังงานแคลอรี่ในมื้อกลางวันได้โดยเฉลี่ย 50 กิโลแคลอรี่เลยทีเดียว ที่เป็นแบบนั้นก็เพราะว่า นมจะช่วยให้เรารู้สึกอิ่ม และช่วยลดอาการอยากอาหารอื่น ๆ ทำให้เรารับประทานอาหารในมื้อถัดไปได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงประมาณ 2 กิโลกรัมด้วยล่ะจ้า

12. ดื่มแอลกอฮอล์บำรุงเลือดและหัวใจ

          ข้อนี้น่าจะถูกใจนักดื่มตัวยง เพราะผลการวิจัยจากประเทศฮอลแลนด์ออกมายืนยันแล้วว่า ผู้ที่ดื่มแอลกอฮอล์ประมาณ 1 แก้วต่อวัน โดยเฉพาะการดื่มไวน์แดง จะทำให้ร่างกายผลิตสาร tPA (tissue plasminogen activator) ซึ่งเป็นสารสลายลิ่มเลือดอุดตัน และช่วยให้ร่างกายผลิตแคลอรี่ชนิดดี ส่งผลดีต่อหัวใจ และลดความดันโลหิตได้อีกด้วย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นก็ต้องดื่มในปริมาณที่จำกัด คือไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน หากมากกว่านั้นก็จะส่งผลเสียต่อร่างกายอย่างที่เรารู้กันดีอยู่นะจ๊ะ

          ไม่น่าเชื่อว่าพฤติกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เราอาจจะทำกันจนชิน หรือไม่เคยเห็นถึงความสำคัญของมันเลย จะสามารถช่วยให้เรามีสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดีขึ้นได้มากขนาดนี้ ฉะนั้น เมื่อรู้อย่างนี้แล้ว ก็ลองปฏิบัติตามคำแนะนำที่เรานำมาฝากกันดูก็ได้ จะได้รู้ว่าจะมีสุขภาพกาย และสุขภาพจิตที่ดีขึ้นอย่างที่บอกกันไว้หรือเปล่า

กิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้

ตัวอย่างกิจกรรมลดเวลาเรียน เพิ่มเวลารู้ จาก โรงเรียนต่างๆ





หลักภาษาไทย

     หลักการใช้ภาษาไทย ธรรมชาติและกฎเกณฑ์ของภาษาไทย การใช้ภาษาให้ถูกต้องเหมาะสมกับโอกาสและบุคคล การแต่งบทประพันธ์ประเภทต่างๆ และอิทธิพลของภาษาต่างประเทศในภาษาไทย             
            ภาษาไทยเป็นภาษาที่เก่าแก่ที่สุดในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีรากฐานมาจากออสโตรไทย ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับภาษาจีน มีหลายคำที่ขอยืมมาจากภาษาจีน
            พ่อขุนรามคำแหงได้ประดิษฐ์อักษรไทยขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 1826 มี พยัญชนะ 44 ตัว (21 เสียง)สระ 21 รูป (32 เสียง)วรรณยุกต์ 5 เสียง คือ เสียง สามัญ เอก โท ตรี จัตวา ภาษาไทยดัดแปลงมาจาก บาลี และ สันสกฤต

           
 
คนไทยเป็นผู้ที่โชคดีที่มีภาษาของตนเอง และมีอักษรไทย เป็นตัวอักษร ประจำชาติ อันเป็นมรดกล้ำค่าที่บรรพบุรุษได้สร้างไว้ ซึ่งเป็นเครื่องแสดงว่าไทยเราเป็นชาติที่มีวัฒนธรรมสูงส่งมาแต่โบราณกาลและยั่งยืนมาจนปัจจุบัน คนไทยผู้เป็นเจ้าของภาษา ควรภาคภูมิใจที่ชาติไทยใช้ภาษาไทย เป็นภาษาประจำชาติมากว่า 700 ปี และจะยั่งยืนตลอดไป ถ้าทุกคนตระหนักในความสำคัญของภาษาไทย

            หากแต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสารผ่านทางอินเตอร์เน็ตได้เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันของคนไทยอย่างมาก ความสะดวกรวดเร็วในการติดต่อสื่อสารกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่าการใช้ภาษาไทยซึ่งเป็นเอกลักษณ์ของชาติให้ถูกต้อง อีกทั้งวัยรุ่นกลับมองว่าการใช้ภาษาที่ผิดกลายเป็นเรื่องของแฟชั่นที่ใคร ๆ ก็ทำกันทำให้เกิดภาษาใหม่ที่เป็นที่แพร่หลายบนโลกอินเตอร์เน็ตหรือเรียกว่าภาษาแชท(Chat) ขึ้น และถ้าหากคนในสังคมไทยยังคงใช้ภาษาไทย เขียนภาษาไทยแบบผิดๆ และไม่คิดใส่ใจที่จะใช้ภาษาไทยให้ถูกต้อง ต่อไปอาจทำให้เกิดความเคยชินจนติดนำมาใช้สื่อสารกันในชีวิตประจำวัน จนทำให้ภาษาไทยที่เป็นรากเหง้าของคนไทย ความภาคภูมิใจในภาษาที่บรรพบุรุษคิดค้นขึ้นมา ภาษาที่มีความสวยงาม ก็คงต้องเลือนหายไป และถูกแทนที่ด้วยภาษาแปลกๆที่ผุดขึ้นมาบนโลกอินเตอร์เน็ตอย่างเช่นในปัจจุบัน

            ดังนั้นคณะผู้จัดทำจึงได้จัดทำเว็บไซต์ ที่เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลการใช้ภาษาไทยที่ถูกต้องในการสื่อสาร เพื่อย้ำเตือนและให้ความรู้ในการใช้ภาษาไทยที่เป็นภาษาประจำชาติและเป็นความภาคภูมิใจให้คงอยู่ในสังคมไทยสืบไป

            หลักการใช้ภาษาไทยเพื่อการสื่อสารในอินเตอร์เน็ต

            ๑. ใช้คำให้ถูกต้องตรงตามความหมาย กล่าวคือ ก่อนนำคำไปเรียงเข้าประโยค ควรทราบความหมายของคำคำนั้นก่อน เช่น คำว่า “ปอก” กับ “ปลอก” สองคำนี้มีความหมายไม่เหมือนกัน คำว่า “ปอก” เป็นคำกริยา แปลว่า เอาเปลือกหรือสิ่งที่ห่อหุ้มออก แต่คำว่า “ปลอก” เป็นคำนาม แปลว่า สิ่งที่ทำสำหรับสวมหรือรัดของต่างๆ เป็นต้น ลองพิจารณาตัวอย่างต่อไปนี้ “วันนี้ได้พบกับท่านอธิการบดี ผมขอฉวยโอกาสอันงดงามนี้เลี้ยงต้อนรับท่านนะครับ” (ที่จริงแล้วควรใช้ ถือโอกาส เพราะฉวยโอกาสใช้ในความหมายที่ไม่ดี



            ๒. ใช้คำให้เหมาะสม เลือกใช้คำให้เหมาะสมกับกาลเทศะและเหมาะสมกับบุคคล เช่นโอกาสที่เป็นทางการ โอกาสที่เป็นกันเอง หรือโอกาสที่เป็นภาษาเขียน เช่น “ข้าพเจ้าไม่ทราบว่าท่านจะคิดยังไง” (คำว่า “ยังไง” เป็นภาษาพูด ถ้าเป็นภาษาเขียนควรใช้ “อย่างไร” “เมื่อสมชายเห็นรูปก็โกรธ กระฟัดกระเฟียด มาก (ควรใช้ โกรธปึงปัง เพราะกระฟัดกระเฟียดใช้กับผู้หญิง) 
            ๓. การใช้คำลักษณนาม ใช้คำที่บอกลักษณะของนามต่างๆ ให้ถูกต้อง เช่น ปากกา มีลักษณนามเป็น ด้าม เลื่อย มีลักษณะนามเป็น ปื้น ฤๅษี มีลักษณะนามเป็น ตน เป็นต้น 
            ๔. การเรียงลำดับคำ เป็นเรื่องที่สำคัญมากในภาษาไทย หากเรียงผิดที่ความหมายก็จะเปลี่ยนไปด้วย ทั้งนี้ เพราะคำบางคำอาจมีความหมายได้หลายความหมายซึ่งขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่จัดเรียงไว้ในประโยค เช่น แม่เกลียดคนใช้ฉัน ฉันเกลียดคนใช้แม่ คนใช้เกลียดแม่ฉัน แม่คนใช้เกลียดฉัน ฉันเกลียดแม่คนใช้ แม่ฉันเกลียดคนใช้ 
ข้อบกพร่องในการเรียงลำดับคำมักปรากฏดังนี้ - เรียงลำดับคำผิดตำแหน่ง เช่น เขาไม่ทราบสิ่งที่ดีงามนั้น ว่า คืออะไร (ควรเรียงว่า เขาไม่ทราบ ว่า สิ่งที่ดีงามนั้นคืออะไร) - เรียงลำดับคำขยายผิดที่ เช่น ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้ด้วย เป็นอย่างสูง (ควรเรียงว่า ขอขอบคุณ เป็นอย่างสูง มา ณ โอกาสนี้ด้วย) - เรียงลำดับคำไม่เหมาะสม เช่น จงไปเลือกตั้งลงคะแนนเสียง นายกสโมสรนักศึกษา (ควรเรียงว่า จงไปลงคะแนนเสียงเลือกตั้ง นายกสโมสรนักศึกษา)
            ๕. แต่งประโยคให้จบกระแสความ หมายถึงแต่งประโยคให้มีความสมบูรณ์ครบถ้วนทั้งส่วนที่เป็นภาคประธานและภาคแสดง ซึ่งประโยคที่จบกระแสความนั้นจะต้องตอบคำถามว่า ใคร ทำอะไร ได้ชัดเจน สาเหตุที่ทำให้ประโยคไม่จบกระแสความอาจเกิดจากขาดคำบางคำหรือขาดส่วนประกอบของประโยคบางส่วนไป เช่น เมื่อตอนยังเด็กเขาชอบนอนหนุนตักแม่ บัดนี้เขาอายุยี่สิบกว่าแล้ว(ควรแก้เป็น เมื่อตอนยังเด็กเขาชอบนอนหนุนตักแม่ บัดนี้เขาอายุยี่สิบกว่าแล้วก็ยังชอบอยู่เหมือนเดิม)
            ๖. ใช้ภาษาให้ชัดเจน ใช้ภาษาที่ให้ความหมายเพียงความหมายเดียว เป็นความหมายที่ไม่สามารถจะแปลความเป็นอย่างอื่นได้ เช่น “คุณแม่ไม่ชอบคนใช้ฉัน” อาจแปลได้ 2 ความหมายคือ คุณแม่ไม่ชอบใครก็ตามที่ใช้ให้ฉันทำโน่นทำนี่ หรือคุณแม่ไม่ชอบคนรับใช้ของฉัน ทั้งนี้เพราะคำว่า “คนใช้” เป็นคำที่มีหลายความหมายนั่นเอง
            ๗. ใช้ภาษาให้สละสลวย ใช้ภาษาอย่างไพเราะราบรื่น ฟังไม่ขัดหู และมีความกะทัดรัด 
                - ไม่ใช้คำฟุ่มเฟือย หมายถึง การใช้คำที่ไม่จำเป็น หรือใช้คำที่มีความหมายซ้ำซ้อน เช่น “วันนี้อาจารย์ไม่มาทำการสอน” คำว่า “ทำการ” เป็นคำที่ไม่จำเป็น เพราะแม้จะคงไว้ก็ไม่ได้ช่วยให้ความหมายชัดเจนขึ้นกว่าเดิม หรือถ้าตัดทิ้ง ความหมายก็ไม่ได้เสียไป ดังนั้นจึงควรแก้ไขเป็น “วันนี้อาจารย์ไม่มาสอน”
                - ใช้คำให้คงที่ หมายถึง ในประโยคเดียวกัน หรือในเนื้อความเดียวกัน ควรใช้คำเดียวกันให้ตลอด ดังประโยคต่อไปนี้ “หมอถือว่าคนป่วยทุกคนเป็นคนไข้ของหมอเหมือนกัน” (ควรแก้เป็น : หมอถือว่าคนไข้ทุกคนเป็นคนไข้ของหมอเหมือนกัน”
                - ไม่ใช้สำนวนต่างประเทศ เช่น “มันเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่เขาต้องจากไป” (ควรแก้เป็น “เขาจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องจากไป)

                ข้อสังเกตและจดจำในการเขียนภาษาไทย

                ๑. หลักการประวิสรรชนีย์ในภาษาไทย - คำที่ขึ้นต้นด้วยกระ/กะ ในภาษาไทยให้ประวิสรรชนีย์ เช่น กระเช้า กระเซ้า กระแส กระโปรง กระทรวง กระทะ กระพริบ กะปิ เป็นต้น
                ๒. คำที่เป็นคำประสมที่คำหน้าก่อนเป็นเสียงอะ ให้ประวิสรรชนีย์ - เช่น ตาวัน เป็น ตะวัน, ฉันนั้น เป็น ฉะนั้น, ฉันนี้ เป็นฉะนี้, หมากม่วง เป็น มะม่วง, สาวใภ้ เป็น สะใภ้, วับวับ เป็น วะวับ, เรื่อยเรื่อย เป็น ระเรื่อย เป็นต้น
                ๓. คำที่ยืมมาจากภาษาบาลี สันสกฤต ตัวท้ายที่ออกเสียง อะ ต้องประวิสรรชนีย์ 
                    - เช่น ศิลปะ มรณะ สาธารณะ วาระ เป็นต้น
                ๔. คำที่พยัญชนะต้น ออกเสียงอะ แต่ไม่ใช่อักษรนำ ต้องประวิสรรชณีย์ 
                    - เช่น ขะมุกขะมอม ขะมักเขม้น ทะเล่อทะล่า เป็นต้น

วันเสาร์ที่ 12 มีนาคม พ.ศ. 2559